ดาวเทียมไทย จะไปทางไหน ? Thai Satellites : Where are they headed? โดย พลอากาศโท ดร. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ

01/07/2567

     “ดาวเทียม” หรือดาวที่มนุษย์ทำเทียมเสมือนจริง หรือประดิษฐ์ขึ้นเพื่อลอกเลียนแบบดวงดาวจริงบนท้องฟ้าที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ ซึ่งหากย้อนไปสมัยที่เรียนวิทยาศาสตร์ในชั้นประถม คงทราบว่าโลกที่เราอยู่เป็นดาวดวงหนึ่งในระบบสุริยะ (Solar system) ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ในขณะที่โลกเราก็มีดวงจันทร์หนึ่งดวงโคจรรอบโลกอีกทีหนึ่ง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คงต้องขอบคุณท่าน เซอร์ ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ตำนานที่ท่านสงสัยว่าทำไมลูกแอปเปิลจึงตกลงพื้น ซึ่งเป็นที่มาของ กฎแรงโน้มถ่วง (Gravity) ที่ท่านอธิบายว่า “วัตถุทุกอย่างดึงดูดกันและกัน แรงดึงดูดนี้คือ แรงโน้มถ่วง โดยแรงโน้มถ่วงจะมีค่ามากถ้าวัตถุมีมวลมาก และจะน้อยลงเมื่อมีระยะห่างกันมากขึ้นด้วย” 
 
ดังนั้น ในการสร้างดาวเทียมให้อยู่บนท้องฟ้าได้คือ การที่ต้องทำให้ดาวเทียมหรือวัตถุที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นนั้นโคจรรอบโลกให้ได้ จึงต้องส่งวัตถุนั้นด้วยความเร็วที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดแรงที่ส่งให้วัตถุนั้นเคลื่อนที่หนีจุดศูนย์กลางของโลกเท่ากับแรงโน้มถ่วงของโลกพอดี ดังนั้นในการส่งให้ดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้ต้องทราบขนาดมวลของดาวเทียม ความสูง (ระยะห่างจากโลก) และความเร็วที่ต้องโคจรรอบโลก เป็นต้น เพื่อที่จะได้คำนวณความเร่งที่ใช้ในการส่งดาวเทียมให้ถูกต้อง ดาวเทียมจึงจะสามารถโคจรรอบโลกได้เช่นเดียวกับที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกนั่นเอง
image008.png
image007.png