กิจการดาวเทียมสื่อสารของไทย โดย พลเรือเอก ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์

26/06/2567

กิจการดาวเทียมสื่อสารของไทย โดย พลเรือเอก ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์

     กิจการดาวเทียมสื่อสาร หรือกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสาร (ตามคำนิยามใน พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓) นับเป็น การสื่อสารโทรคมนาคมที่มี ความสำคัญยิ่ง และจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ กิจการดาวเทียมสื่อสารนี้นับเป็นส่วนสำคัญ ในกิจการอวกาศ โดยเป็นกิจการที่ใช้ประโยชน์จากอวกาศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีรัฐใดรัฐหนึ่งเป็น เจ้าของเพียงลำพัง ทั้งนี้ตามสนธิสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อวกาศร่วมกัน ค.ศ.๑๙๖๖ (The Outer Space Treaty 1966) ซึ่งประเทศไทยได้ให้การรับรอง เมื่อ ๒๗ ม.ค. ๒๕๑๐ มีสาระสำคัญ คือ ห้วงอวกาศเป็นอาณาบริเวณของมนุษยชาติทุกๆ รัฐมีสิทธิในการสำรวจและเข้าใช้ประโยชน์โดยปราศจากการกีดกัน ภายใต้หลักการเท่าเทียมและแสวงหาความ ร่วมมือร่วมกัน ทั้งนี้ห้วงอวกาศไม่อยู่ภายใต้อธิปไตยของรัฐใด ทั้งนี้ ห้วงอวกาศไม่อยู่ภายใต้อธิปไตยของรัฐใด ดังนั้นในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรนั้น สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union) จะเป็นองค์กรที่เป็นเสมือนคนกลาง ทำหน้าที่ประสานงานกับมวลสมาชิก เพื่ออนุญาตให้รัฐที่ร้องขอส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ได้มีการตกลงกันกับมวลสมาชิกไว้ล่วงหน้าแล้ว ขั้นตอนต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้น มีความซับซ้อนและมีหลายขั้นตอน เมื่อรัฐที่ต้องการส่งดาวเทียมได้ประสานงานกับรัฐอื่นที่เป็นเจ้าของดาวเทียมหรือต้องการใช้วงโคจรเดียวกัน หรือข้างเคียงกันเรียบร้อยแล้ว จึงจะได้รับเอกสารข่ายงาน (Filing) จาก ITU เพื่อส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ดังนั้น ในการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสาร จึงเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ที่รัฐใดรัฐหนึ่งไม่อาจจะดำเนิน กิจการดาวเทียมสื่อสารตามลำพังได้ และเมื่อรัฐใดได้ประสานงานเพื่อให้ได้ Filing มาแล้ว ในการนำ Filing ออกใช้ ก็เป็นเรื่องของแต่ละรัฐ ภายใต้ข้อกำหนดของ ITU บางรัฐก็อาจผูกขาดโดยรัฐบางรัฐก็มีการอนุญาตให้เอกชนมาขอใบอนุญาตให้ใช้ Filing ได้
590236.jpg
     Filing จึงเรียกได้ว่าเป็นเอกสารรับรองสิทธิในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งวงโคจร คลื่นความถี่ที่จะใช้ รายละเอียดทางเทคนิค และลำคลื่นสัญญาณดาวเทียมที่ครอบคลุมพื้นโลกหรือ Footprint โดยตำแหน่งวงโคจรหนึ่งสามารถมี Filing ได้หลาย Filing และยังสามารถมีดาวเทียมได้หลายดวง ดังนั้น แม้ประเทศไทยจะใช้ดาวเทียมในตำแหน่งวงโคจรใดอยู่ก็ตามอาจมีประเทศอื่นมาใช้ตำแหน่งเดียวกันได้ และหากได้รับ Filing แล้วไม่ดำเนินการใดใด ITU ก็อาจเรียกคืน Filing นั้นได้เช่นกัน ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ทั้งตำแหน่งวงโคจรและคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการดาวเทียมสื่อสาร รัฐใดใดไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยสิทธิขาดถาวร คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการดาวเทียมสื่อสารนี้ก็ไม่ใช่คลื่นความถี่ในภาคพื้นดินที่รัฐสามารถบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่

พัฒนาการของกิจการดาวเทียมสื่อสารของไทย

การให้บริการดาวเทียมสื่อสารในยุคสัมปทาน
     เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ ประเทศไทยได้เริ่มใช้การสื่อสารโทรคมนาคมผ่านดาวเทียม โดยใช้ดาวเทียมอินเทลแซท (Intelsat) เพื่อใช้ในการสื่อสารของประเทศ ในชั้นต้น กรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นหน่วยงานดูแลและมีสถานีรับสัญญาณที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ต่อมาประเทศไทยได้ใช้ดาวเทียมสื่อสารของต่างประเทศหลายดวง จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๓๔ รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญว่าประเทศไทยควรจะมีดาวเทียมสื่อสารเป็นของตัวเอง เพื่อพัฒนาการสื่อสารโทรคมนาคม เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ และเป็นหลักประกันในความมั่นคงของประเทศด้วย ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ให้สัมปทานแก่บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด เพื่อดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ
     โครงการดังกล่าวข้างต้น เป็นโครงการของประเทศ (National Project) ซึ่งเมื่อรัฐให้สัมปทานแก่บริษัทแล้ว ดาวเทียมที่จัดส่งขึ้นไปตลอดจนสถานีภาคพื้นที่บริษัทสร้างขึ้นจะต้องตกเป็นของรัฐทันทีและรัฐจะส่งคืนให้บริษัทไป Operate เมื่อครบกำหนดสัญญาสัมปทานบริษัทจะคืนให้รัฐต่อไปหรือที่เรียกว่า BTO (Build Transfer Operate)  สัญญาสัมปทานนี้มีกำหนด ๓๐ ปีตั้งแต่ ๑๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๔ ถึง ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๔ ทั้งนี้ บริษัท ชินวัตรฯ ได้จัดตั้งบริษัท ไทยคมฯ เข้ามาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศดังกล่าว และได้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร รวมทั้งสิ้น ๘ ดวง โดยดาวเทียมที่ส่งขึ้นไปเป็นดาวเทียมวงโคจรประจำที่อยู่สูง ๓๕,๗๘๖ กม. จากพื้นโลก คือ ดาวเทียมไทยคม ๑ ถึง ดาวเทียมไทยคม ๘ ปัจจุบันหมดอายุสัญญาสัมปทานแล้ว
     เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ขณะที่รัฐบาลให้สัมปทานกับบริษัท ไทยคมฯ ยังไม่มีกฎหมายใดเลยที่กล่าวถึงกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ดังนั้นในยุคนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าไม่มีกฎหมายที่กำกับดูแลการใช้ Filing และกำกับการให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมโดยเฉพาะ ในสัญญาสัมปทานจึงได้รวมเอาทั้งเรื่องการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรและการให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมเข้าไว้ด้วยกัน โดยรัฐจะกำกับผ่านสัญญาสัมปทานเท่านั้น
     ต่อมาประเทศไทยให้ความสำคัญในกิจการสื่อสารโทรคมนาคมมากยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๓๘ เห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนากิจการโทรคมนาคมตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งมีสาระที่จะต้องเปิดเสรีการประกอบกิจการสื่อสารโทรคมนาคม โดยต้องแยกหน่วยงาน operator ออกจาก regulator และมีกฎหมายกำกับดูแลอย่างชัดเจน ประกอบกับวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ รัฐบาลไทยต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในหนังสือแสดงเจตจำนงในการกู้เงิน (Letter of intent) โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือรัฐบาลต้องเปิดเสรีทางการค้าในทุก ๆ ด้าน ต้องมีการตั้งหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบกิจการต่าง ๆ  ต้องลดระบบสัมปทาน ต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
     การสื่อสารโทรคมนาคมเป็นกิจการหนึ่งที่ต้องเปิดเสรีทางการค้าโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่มีการกำหนดให้มีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับผิดชอบและทำหน้าที่กำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในการประกอบกิจการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๓ ขึ้น เพื่อจัดตั้งองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยองค์กรดังกล่าวปัจจุบันคือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) การจัดตั้ง กสทช. ขึ้น ก็เพื่อยกเลิกการผูกขาดกิจการสื่อสารโทรคมนาคม รัฐต้องยกเลิกระบบสัมปทาน โดยเปลี่ยนเป็นระบบอนุญาต เพื่อรองรับการเปิดเสรีด้านกิจการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงที่ประเทศไทยให้ไว้กับ IMF อีกทั้งเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่รัฐจะต้องเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เนื่องจาก หากยังคงระบบสัมปทานเช่นเดิม ก็จะไม่เกิดการแข่งขัน เพราะจะมีเพียงผู้รับสัมปทานจากรัฐเท่านั้นที่สามารถประกอบกิจการได้
     นอกจากนั้นยังได้มีการตรา พรบ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ปี พ.ศ.๒๕๔๔ ขึ้น โดยกำหนดให้การประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. เปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบอนุญาต จากเดิมที่เอกชนจะต้องไปขอสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ากฎหมายไทยประสงค์จะยกเลิกการผูกขาดกิจการสื่อสารโทรคมนาคมโดยรัฐ และเปิดโอกาสให้เอกชนขอรับอนุญาตประกอบกิจการได้ โดยไม่ต้องผ่านการขอสัมปทานจากรัฐอีกต่อไป รวมทั้ง ยังได้มีการตรา พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ ด้วย
    อย่างไรก็ตาม ในเรื่องกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารก็ยังไม่มีการกำหนดอยู่ในกฎหมายฉบับใดเลย การกำกับการให้บริการดาวเทียมสื่อสาร กระทรวงคมนาคมยังกำกับการดำเนินการ โดยใช้สัญญาสัมปทาน ซึ่งปัจจุบันสัญญาสัมปทานหมดอายุลงแล้วใน ๑๐ กันยายน  พ.ศ.๒๕๖๔

การให้บริการดาวเทียมสื่อสารในยุคการประกอบกิจการโทรคมนาคม
      ในปี พ.ศ.๒๕๕๓ ได้มีการตรา พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓ ขึ้นแทน พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๔๓ โดยมีการกำหนดให้ “กิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสาร” เป็นกิจการโทรคมนาคมด้วย ดังนั้นการให้บริการวงจรดาวเทียมหรือที่เรียกว่าช่องสัญญาณดาวเทียม (Transponder) จึงถือเป็นกิจการโทรคมนาคมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. แต่ในส่วนของการใช้ Filing เพื่อส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรนั้น ยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลโดยตรงแต่ยังเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล
การให้บริการดาวเทียมสื่อสารในยุคนี้ ก็ยังคงมีผู้ให้บริการเฉพาะบริษัท ไทยคมฯ ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๗ และ พ.ศ.๒๕๕๘ บริษัท ไทยคมฯ ได้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภท ๓ สำหรับดาวเทียมไทยคม ๗ และไทยคม ๘ เพื่อให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมของตน และ กสทช. ก็ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภท ๓ ให้ตามที่กระทรวง ฯ ยืนยัน แต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งยังเป็นหน้าที่และอำนาจของกระทรวงฯ อยู่ ดังนั้น ในยุคนี้จะเป็นยุคที่แยกหน่วยงานกำกับการใช้ Filing (ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวง) และการให้บริการดาวเทียมสื่อสาร ซึ่งเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคม (อำนาจหน้าที่ของ กสทช.) ออกจากกัน

การให้บริการดาวเทียมสื่อสารในยุคการอนุญาตให้ใช้สิทธิการเข้าใช้วงโคจรและการประกอบกิจการโทรคมนาคม
     ในปี พ.ศ.๒๕๖๐ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๐ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวถึงสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรเอาไว้ โดยกำหนดไว้ตามมาตรา ๖๐ วรรคหนึ่งความว่า “มาตรา ๖๐ รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน” อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญก็มิได้กำหนดรายละเอียดว่าจะรักษาหรือใช้อย่างใด เพียงแต่กำหนดในมาตรา ๒๗๔ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๐ ว่าให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ภายใน ๑๘๐ วัน ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีก็ได้เสนอปรับปรุง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓ โดยกำหนดหน้าที่และอำนาจที่เกี่ยวกับดาวเทียมสื่อสารให้กับ กสทช. จึงทำให้ กสทช. ทำหน้าที่เป็น Regulator โดยสมบูรณ์
      จึงสรุปได้ว่าปัจจุบัน กสทช. มีอำนาจตามกฎหมายในการบริหารกิจการดาวเทียมสื่อสารจำนวน ๓ ฉบับ คือ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจการดาวเทียมสื่อสารโดยตรง  พรบ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ใช้ในการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภท ๓ (ประเภทมีโครงข่าย) และ พรบ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.๒๔๙๘ ในการนำเข้าอุปกรณ์สื่อสารและการตั้งสถานีดาวเทียม ทั้งนี้ กสทช. ได้ออกประกาศที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมสื่อสาร จำนวน ๓ ฉบับ คือ แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิฯ และหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ (Landing Right)
นอกจากนั้น หากใช้เอกสารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจร (Filing) สำหรับดาวเทียมวงโคจรประจำที่ ซึ่ง กสทช. ได้รับโอนมาจากกระทรวงดิจิทัลฯ ตามสัญญาสัมปทานฯ เดิม กสทช. ก็จะออกหลักเกณฑ์การอนุญาตเฉพาะอีก ๑ ฉบับ

ข้อสังเกต
จากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการดาวเทียมสื่อสารตามที่กล่าวแล้วมีข้อสังเกต ดังนี้
๑. สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ความว่า “สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม” เพิ่งจะมีการกำหนดเป็นครั้งแรกโดยรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๖๐ ตามที่กล่าวแล้ว
โดยกำหนดว่า “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน” และได้กำหนดให้ กสทช. เป็นหน่วยกำกับดูแลตาม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๖๒) แต่อย่างไรก็ตาม การจะส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรนั้นจะต้องได้รับเอกสารข่ายงาน  (Filing) จาก ITU ซึ่งไม่ใช่มีเฉพาะตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม แต่ต้องมีรายละเอียดทางเทคนิค คลื่นความถี่และ Footprint ด้วย แต่ก็มีบุคคลบางกลุ่มเข้าใจผิดว่า Filing ก็คือวงโคจรอย่างเดียว ดังนั้นเมื่อประเทศไทยมี Filing แล้วก็ถือได้วงโคจรไปชาติอื่นมาใช้ไม่ได้ เป็นต้น
     อันที่จริง การบัญญัติเรื่อง สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นั้น ในเวลานั้น เน้นหนักไปที่ดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geostationary Satellite Orbit : GSO) ซึ่งมีอยู่เดิมและมีจำกัดและมองว่ามีมูลค่าสูง รวมทั้งดาวเทียมสื่อสารแบบวงโคจรไม่ประจำที่ (Non Geostationary Satellite Orbit : NGSO) ยังไม่แพร่หลายมากนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่โชคดีว่าในยุคที่กระทรวงคมนาคมให้สัมปทานบริษัท ไทยคมฯ เพื่อดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารนั้น บริษัท ไทยคม ฯ ได้ไปกว้านขอ Filing จาก ITU จำนวนหลาย Filing ในวงโคจรต่าง ๆ เช่น ๕๐.๕ํ, ๕๑ํ, ๗๘.๕ํ, ๑๑๙.๕ํ, ๑๒๐ํ, ๑๒๖ํ และ  ๑๔๒ํ องศาตะวันออก ซึ่งเป็น Filing ที่ใช้ในการส่งดาวเทียมได้เลยก็มี (เรียกว่า Notification : N) และที่ยังต้องประสานงานกับรัฐเจ้าของดาวเทียมใกล้เคียงก็มี (เรียกว่า Coordinate : C) ซึ่งในเวลานั้น (ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๔) เป็นต้นมา ประเทศต่างๆยังไม่มีความตื่นตัวในเรื่องดาวเทียมสื่อสารที่ใช้วงโคจรประจำที่มากนัก จึงทำให้สามารถขอ Filing ในลักษณะ Paper Sattellites ได้ แต่อย่างไรก็ตามก็มีบางประเทศที่ตื่นตัวในเรื่องนี้ เช่น ลักเซมเบอร์กก็ขอ Filing ทั้งขั้น N และขั้น C มาไว้เป็นจำนวนมาก สำหรับประเทศไทยนั้นที่ผ่านมาเราใช้ Filing ในวงโคจร ๗๘.๕ํ, ๑๑๙.๕ํ และ๑๒๐ํ  สำหรับไทยคม ๑ – ๘ แต่ปัจจุบันดาวเทียมหลายดวงได้ปลดระวางไปแล้ว โดยในปัจจุบันวงโคจรที่ ๗๘.๕ํ จะเป็นดาวเทียมไทยคม ๖ และไทยคม ๘   Filing ของไทยคม ๕ ที่วงโคจร ๗๘.๕ํ เดิม กสทช. ก็ได้จัดประมูลและได้ผู้ชนะไปแล้ว วงโคจรที่ ๑๑๙.๕ํ แต่เดิมเป็นดาวเทียมไทยคม ๔ ซึ่งเป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ ปัจจุบันก็ได้ผู้ชนะการประมูลไปแล้ว วงโคจรที่ ๑๒๐ํ ปัจจุบันคือดาวเทียมไทยคม ๗   ส่วน Filing อื่น ที่วงโคจร ๕๐.๕ํ, ๕๑ํ, ๑๔๒ํ การจัดประมูลเป็นไปด้วยความลำบาก เนื่องจากทั้ง ๓ วงโคจร รัฐบาลก็ไม่สนใจที่จะใช้เป็นดาวเทียมแห่งชาติอันเนื่องจากพื้นที่ให้บริการอยู่ห่างไกลจากประเทศไทย และให้บริการในต่างประเทศเป็นหลัก และบางวงโคจรจะอยู่ในทะเลก็มี นอกจากนั้นวงโคจรดังกล่าว เกือบทุกวงโคจร รวมทั้งวงโคจรใกล้เคียงก็มีดาวเทียมของชาติอื่น และเจ้าถิ่นอยู่แทบทุกวงโคจร ดังนั้น หากเอกชนจะไปประกอบการสู้เจ้าถิ่นก็เป็นไปด้วยความลำบาก ส่วนวงโคจร ๑๒๖ํ ผู้ประมูลได้คือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) แต่ก็จะต้องใช้ความพยายามอีกมาก เนื่องจากเป็นขั้น C โดยจะต้องประสานงานกับดาวเทียมดวงข้างเคียงด้วย เพื่อให้ความถี่ไม่กวนกัน ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และไม่แน่ว่า จะได้รับสิทธิจาก ITU หรือไม่
     อย่างไรก็ตาม Filing แต่ละ Filing ก็มีคลื่นความถี่ไม่เหมือนกัน บาง Filing ก็มีคลื่นความถี่ ซึ่งสามารถส่งดาวเทียม บรอดแบนด์ (High Throughput Sattellite : HTS) ได้ บาง Filing ก็มีเฉพาะคลื่นความถี่ ซึ่งสามารถส่งได้เฉพาะดาวเทียมแบบทั่วไป (Conventional Sattellite) รวมทั้ง กสทช. ต้องพะวงถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษา Filing ให้ได้ตาม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓  (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา ๑๔/๑ ด้วย
นอกจากนั้น การที่ขอ Filing เก็บไว้นั้นที่ผ่านมาจะใช้ในการเจรจาทางธุรกิจ เพื่อนำ Filing ไปแลกและเจรจาต่อรองกัน ซึ่งการเจรจาต่อรองเป็นเรื่องไม่ง่ายนักและเอกสารข่ายงานดาวเทียมมีทั้งขั้นส่งดาวเทียมได้เลย (ขั้น N) และขั้นที่ต้องประสานงานกับประเทศ ที่ใช้ดาวเทียมดวงข้างเคียงเพื่อไม่ให้คลื่นความถี่กวนกัน (ขั้น C) ตามที่กล่าวแล้ว
    มีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่อง Filing ของวงโคจร ๕๐.๕ํ องศาตะวันออกก็คือหลังจากที่รัฐบาลได้มอบหมายให้นำดาวเทียมมาวางไว้ชั่วคราว เพื่อรักษาสิทธิ Filing ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๙ นั้น ในปี พ.ศ.๒๕๖๑ บริษัท มิว สเปช แอนด์ แอดวานส์ เทคโนโลยี จำกัด ได้มีหนังสือถึงกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขอรักษาสิทธิและใช้งาน Filing ของไทยที่ตำแหน่งวงโคจร ๕๐.๕ํ แต่ไม่ได้รับอนุญาต จึงมีผลให้ Filing ดังกล่าวยังไม่มีผู้นำไปใช้ และตกค้างมาถึง กสทช. จวบจนปัจจุบัน ทั้งนี้ หากบริษัท มิว สเปช ฯ จำกัด ได้รับอนุญาตแล้ว มีผลดีคือประเทศไทยจะสามารถรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดังกล่าวได้ รวมทั้งจะมีผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยรายใหม่ เข้ามาแข่งขันในตลาดโลก และจะทำให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น ปัญหาในเรื่องประมูล Filing และการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม จึงตกหนักอยู่ที่ กสทช. เพราะต้องเผชิญกับมรสุมหลายด้าน มีข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่หลากหลาย อาทิ บ้างอยากได้เงินค่าประมูลมากๆ บ้างก็เข้าใจผิดคิดว่า เมื่อไทยได้รับสิทธิในวงโคจรใด วงโคจรนั้นเป็นสิทธิขาดของประเทศไทยทั้งหมด และห้ามสูญเสียไป ซึ่งตามหลักการของการใช้ห้วงอวกาศแล้วจะต้องแบ่งปันการใช้มิใช่สมบัติของรัฐใดรัฐหนึ่ง รวมทั้งหลักการและเหตุผลในการตั้ง กสทช. ก็เพื่อให้มีหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อกำกับการสื่อสารโทรคมนาคมให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ต้องมีการบริการที่มีคุณภาพดีและกำกับดูแลให้เกิดประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด ไม่ใช่ หวังผลกำไรเป็นหลัก รวมทั้งต้องไม่ถูกครอบงำโดยนักการเมือง ซึ่งต่างกับระบบสัมปทานโดยสิ้นเชิง และควรทราบว่า Filing ไม่เหมือนคลื่นความถี่วิทยุ Filing ที่ประเทศไทยได้มาเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ ITU , ITU สามารถเรียกคืนได้ตลอดเวลา ซึ่งต่างกับคลื่นความถี่ถ้าไม่ใช้ ประมูลยังไม่ได้ ก็ยังเก็บไว้ได้ กสทช. จึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม และระมัดระวัง เนื่องจากมีปัจจัยสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ มาเกี่ยวข้องมากมาย

๒. การใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในประเทศไทย
   ในส่วนของดาวเทียมสื่อสารวงโคจรประจำที่ (GSO) นั้น กสทช. ก็ได้ออกหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้ได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และไม่กีดกันทางด้านการค้า แต่ก็ต้องรักษาสิทธิของผู้ประกอบการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศด้วย
      สำหรับดาวเทียมสื่อสารวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) ซึ่งได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงนั้น การขอเอกสารข่ายงานดาวเทียมไม่ยุ่งยากมากนักเพราะไม่ใช่วงโคจรประจำที่ที่มีจำนวนจำกัด แต่อย่างไรก็ตามดาวเทียมสื่อสารวงโคจรไม่ประจำที่ต้องส่งดาวเทียมขึ้นไปเป็นกลุ่มดาวเทียม(Constellation) ไม่สามารถส่งดาวเทียมดวงเดียวได้และต้องใช้วงเงินในการลงทุนสูง ส่วนมากจะเป็นบริษัทข้ามชาติเช่น บริษัท Oneweb Starlink เป็นต้น แต่การใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในประเทศไทยนั้นการประกอบกิจการผู้ถือหุ้นจะต้องเป็นคนไทย (คือต้องมีหุ้นในบริษัท ๕๑% ขึ้นไป) (ตาม พรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒) ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการใช้ดาวเทียมต่างชาติของบางบริษัท เพราะบางบริษัทมีนโยบายจะไม่ให้คนต่างชาติถือหุ้น แต่อย่างไรก็ตาม หากจะนำดาวเทียมต่างชาติมาใช้ในประเทศไทย โดยไม่มีหลักเกณฑ์กำกับที่เหมาะสม อาจจะส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งอาจจะเป็นการไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการไทยที่ประมูล Filing ไปในราคาสูง และเป็นการไม่สนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ไปแข่งขันในเวทีโลกอีกด้วย ดังนั้น กสทช. จึงควรจะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์การใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ (Landing Right) อย่างรอบคอบ รัดกุม และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้วย

๓. การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับกิจการดาวเทียมสื่อสาร
    ปัจจุบัน กสทช. รับผิดชอบและกำกับการประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสาร ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมและการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคม ฯ (กิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสาร) ตาม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓  พรบ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๔ แต่การกำหนดนโยบายในภาพรวมของประเทศด้านอวกาศ ซึ่งรวมถึงดาวเทียมสื่อสารเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติโดยกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งเป็นคณะกรรมการ ที่ตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งออกตาม พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ จึงไม่สามารถใช้บังคับกับหน่วยงานของรัฐได้ทุกหน่วย  เพราะหน่วยงานของรัฐ เช่น กสทช. ไม่อยู่ในส่วนของการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่น รวมทั้งประชาชน และผู้ประกอบการทั่วไปด้วย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการตั้งหน่วยงานกลางด้านอวกาศโดยกฎหมายระดับ พรบ. เพื่อเป็นหน่วยงานที่กำหนดนโยบายด้านกิจการอวกาศโดยอาจรวมเอางานของคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ งานของ กสทช. ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม งานในส่วนการประสานงานคลื่นความถี่ที่ใช้กับกิจการดาวเทียมและงานในส่วนการอนุญาตให้ใช้ Landing Right เป็นต้น
     นอกจากนั้น ปัจจุบันการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร หากเมื่อได้รับ Filing จาก กสทช. แล้วก็สามารถส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้เลย ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วการส่งวัตถุอวกาศขึ้นสู่วงโคจรนั้น จะต้องมีการกำกับดูแลและได้รับอนุญาตด้วย เนื่องจากเป็นการดำเนินการระหว่างประเทศ จึงควรกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานนี้ด้วย
 สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือนโยบายเกี่ยวกับกิจการดาวเทียม รัฐบาลควรมีนโยบายเกี่ยวกับกิจการดาวเทียมให้ชัดเจนโดยควรระบุในนโยบายว่ารัฐบาลต้องการมีดาวเทียมอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด เพื่อใช้ในภาครัฐ เพื่อให้ กสทช. นำไปเป็นแนวทางในการจัดทำแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมและดำเนินการตามแผนนั้น รวมทั้งรัฐบาลยังสามารถขอรับการสนับสนุน งป. จากกองทุน กทปส. เพื่อให้มีดาวเทียมภาครัฐ ซึ่งเป็นไปตาม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ
พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๒๗ (๑๔/๑) ด้วย

๔. ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๐
          รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ และ พ.ศ.๒๕๕๐ ได้กำหนดเฉพาะเรื่องคลื่นความถี่ไว้ว่า
“คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ” เนื่องจากการสื่อสารต้องใช้คลื่นความถี่ โดยรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าคลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติและไม่ได้ระบุว่ารัฐต้องรักษาคลื่นความถี่ไว้ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริง
       ส่วนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๖๐ วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่า “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม อันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน” เห็นว่า การระบุเช่นนี้ขัดกับข้อเท็จจริง เนื่องจากคลื่นความถี่ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่แล้วจึงไม่ใช่สมบัติของชาติที่จะต้องรักษาไว้ ส่วนสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมก็เช่นกัน สิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นสิทธิชั่วคราวที่ได้รับจาก ITU ไม่ใช่สิทธิตายตัวเมื่อผิดเงื่อนไข ITU ก็สามารถเพิกถอนได้ จึงไม่ใช่สมบัติของชาติ นอกจากนั้นตาม The Outer Space Treaty 1966 มีสาระสำคัญตามที่กล่าวแล้วสรุปว่า ห้วงอวกาศเป็นอาณาบริเวณของมนุษยชาติ ทุก ๆ รัฐ มีสิทธิในการเข้าใช้ประโยชน์ โดยต้องปราศจากการกีดกั้น ภายใต้หลักการเท่าเทียมและแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน โดยห้วงอวกาศไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจอธิปไตยของรัฐใด ๆ แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๖๐ ดังกล่าว ได้กำหนดให้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นสมบัติของชาติ จึงไม่สอดคล้องกับ Treaty ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดเช่นนี้แล้ว จึงทำให้การตรา พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๖๒) ในเวลาต่อมาต้องกำหนดให้มีการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และกำหนดหลักเกณฑ์ในการสละสิทธิไว้ด้วย ดังนั้น กสทช. จึงต้องจัดการประมูลเพื่อให้ได้รายได้มาก ๆ และต้องพยายามรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมไว้ให้ได้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกันและทำให้ผู้ประกอบการของไทยประสบปัญหาในการแข่งขันกับต่างชาติ เนื่องจากมีต้นทุนสูงกว่าและผิดวัตถุประสงค์ของการตั้ง กสทช. ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลและให้ประชาชนได้รับการบริการที่มีคุณภาพผ่านระบบใบอนุญาต โปร่งใสตรวจสอบได้ มิใช่หวังผลกำไร ซึ่งต่างกับระบบสัมปทานที่ผ่านมา ดังนั้น ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๖๐ มาตรา ๖๐ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงด้วย หลังจากนั้น จึงควรแก้ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ๒๕๕๓ ให้สอดคล้องต่อไป

๕. การให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับกิจการดาวเทียมสื่อสารและสิทธิในการเข้าใช้
วงโคจรดาวเทียม

เนื่องจากกิจการดาวเทียมสื่อสาร โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก มีความเป็นมาที่สลับซับซ้อนและมีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่มาก จึงควรที่จะให้ความสำคัญในการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้กับประชาชนและสาธารณชนอย่างเพียงพอ เพื่อให้สาธารณชนรับรู้ข้อเท็จจริงและสามารถลดแรงกดดันที่มีต่อ กสทช. ได้ด้วย

บทสรุป
กิจการดาวเทียมสื่อสาร นับเป็นการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจ สังคม เป็นหลักประกันในความมั่นคงของประเทศและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง
     แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารที่ผ่านมา มีปัญหาในการปฏิบัติหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านกฎหมาย ปัญหาการทำความเข้าใจ การตีความและการรับรู้ต่อสังคม จึงควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นระดับนโยบาย ระดับผู้กำกับ เช่น คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ  กสทช.  กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เร่งดำเนินแก้ไขปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งควรจะต้องทำความเข้าใจ และให้ความรู้กับประชาชนและประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนทราบ เพื่อให้การพัฒนาและใช้ประโยชน์ในกิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศเป็นไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน